NewsPOSTED ON : 20/10/2021

“วิกฤตพลังงานจีน ดันราคาวัตถุดิบวิ่งต่อไม่หยุด”

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งพรวดสูงขึ้นอย่างต่อเนี่อง ทั้งถ่านหิน-เหล็ก-อะลูมิเนียม กระทบนำเข้าวัตถุดิบไทยทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค”

จีนกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงาน จนทำให้บางพื้นที่เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า กระทบต่อภาคธุรกิจ-การผลิตสินค้าและยังลามไปถึงซัพพลายเชนทั่วโลก โดยวิกฤตดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในปีนี้ที่คาดการณ์กันว่า อาจจะเติบโตลดลงเหลือเพียง 7.7-7.8% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8.2% นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้ากับจีนหรือประเทศไทยอีกด้วย

 

ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบพุ่งกระฉูด

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขาดแคลนพลังงานในประเทศจีนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะ

“เหล็ก-อะลูมิเนียม” ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาเป็นซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง การทำบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เคมีต่าง ๆ รวมถึงยานยนต์ จากปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปอยู่แล้ว ดังนั้น “ผลกระทบ 2 เด้ง” ที่กำลังเกิดขึ้นอาจทำให้การผลิตยานยนต์ในประเทศปรับตัวลดลง

 

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ คาดการณ์ว่า เมื่อต้นทุนด้านพลังงานเพิ่ม เงินบาทอ่อน ขาดแคลนวัตถุดิบ และน้ำท่วม จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น กำลังซื้อหดตัว การนำเข้าสั่งซื้อเครื่องจักรชะลอตัวลง ดังนั้นจึงอาจส่งผลต่อการลงทุนในไตรมาส 4

 

“ผลกระทบจากสถานการณ์นี้สวนทางกลับที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว รับการเปิดประเทศพอดี แต่เรากลับโดนปัญหาอื่น ๆ เข้ามาเป็นระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจที่จะดีขึ้นหลังเปิดประเทศปลายปีอาจจะต้องสะดุดชั่วคราว ผมเชื่อว่า นักท่องเที่ยวคงยังไม่กลับเข้ามาทันที ส่วนวิกฤตขาดแคลนจากการนำเข้าสินค้าจีนนั้น เราก็หวังว่ามาตรการรัฐของจีนที่กำลังอนุมัติเงินกู้ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เอกชนเพื่อแก้วิกฤต ด้วยการหาซื้อถ่านหินพลังงานฟอสซิลต่างๆ 100 ล้านตัน จะมาแก้วิกฤตพลังงานจนคลี่คลายภายในปลายปี 2564” นายเกรียงไกรกล่าว

สอดรับกับนายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. กล่าวว่า ตอนนี้อุตฯมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งซัพพลายส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ 80% มาจากประเทศจีน การที่รัฐบาลจีนกำหนดมาตรการมาตรการควบคุมการใช้ไฟฟ้า ทำให้บางมณฑลต้องลดกำลังการผลิตถึง 50% ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนยิ่งส่งผลต่อต้นทุนในการนำเข้า แต่ผู้ประกอบการส่งออกยังสามารถขายเป็นดอลลาร์ได้เงินมากขึ้น แต่ผู้ที่ค้าตลาดในประเทศที่มีการซื้อขายกันโดยปรับราคาเป็นรายไตรมาสหรือรายเดือนก็จะเห็นว่า ยังไม่สามารถปรับราคาได้ตามทันต้นทุนที่แท้จริง

 

Source: https://www.prachachat.net/economy/news-780931

ContactC.K.B. PLATES STEEL COMPANY LIMITED